4 มกราคมวันอักษรเบรลล์โลก
“อักษรเบรลล์” คือตัวอักษรสำหรับคนพิการทางการเห็น ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของจุดนูนเขียนลงบนกระดาษ โดยใช้ปลายนิ้วมือสัมผัสในการอ่าน ซึ่งอักษรเบรลล์ขนาด 1 เซลล์ จะประกอบไปด้วยปุ่มนูนเล็กๆ จำนวน 6 ปุ่ม วางตัวในลักษณะต่างๆ กันตามรหัสที่กำหนดขึ้น ใช้แทนตัวอักษรปกติ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
“วันอักษรเบรลล์” ตรงกับวันเกิดของ หลุยส์ เบรลล์ ครูตาบอดชาวฝรั่งเศส ที่เกิดในวันที่ 4 มกราคม 1809 โดยเขาทุ่มเทคิดค้นอักษรเบรลล์โดยนำวิธีการส่งข่าวของทหารในเวลากลางคืนที่เรียกว่า night-writing ซึ่งเป็นรหัสจุด 12 จุด มาปรับให้เหลือจุดเพียง 6 จุด ที่สามารถใช้เพียงนิ้วเดียววางบนจุดทั้งหมดได้ และกลายเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่เปลี่ยนโลกมืดมิดของคนพิการทางการเห็นทั่วโลกจนมาถึงปัจจุบัน
สำหรับในประเทศไทย มีการนำอักษรเบรลล์เข้ามาใช้ครั้งแรกในปี 1939 โดยอาจารย์เจเนวีฟ คอลฟีลด์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอด โรงเรียนสำหรับคนพิการแห่งแรกของประเทศไทย โดยร่วมกับนายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ในการกำหนดโค้ดอักษรเบรลล์ไทยขึ้น ประกอบด้วยพยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และตัวสะกด ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงในเวลาต่อมา
อักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอดนี้มีการคิดประดิษฐ์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1824 โดยนักเรียนตาบอดชาวฝรั่งเศส ชื่อ หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille)
หลุยส์ เบรลล์ เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1809 ณ เมือง Coupvray ประเทศฝรั่งเศส หลุยส์ เบรลล์ตาบอดเพราะเกิดอุบัติเหตุเมื่ออายุ 3 ขวบ ตอนแรกเขาเรียนร่วมในโรงเรียนปกติ ต่อมาได้ไปเรียนที่สถาบันคนตาบอดแห่งชาติฝรั่งเศส เมืองปารีส และเป็นครูสอนหนังสือในเวลาต่อมา เขามีความรู้สึกสำนึกว่า คนตาบอดหากไม่มีอักษรสำหรับบันทึกข้อความแล้วการศึกษาจะเป็นไปได้ไม่ดี เขามีความคิดมาจากนายทหารแห่งกองทัพบกฝรั่งเศสชื่อ กัปตันชาลส์ บาบิแอร์ ซึ่งได้นำวิธีการส่งข่าวสารทางทหารในเวลากลางคืนมาให้คนตาบอดลองใช้ดูระบบนี้ใช้รหัส จุดขีด นูนลงบนกระดาษแข็ง ซึ่งเรียกว่า โซโนกราฟฟี่ (Sonography) แม้ระบบนี้ค่อนข้างจะยุ่งยากแต่หลุยส์ เบรลล์ เห็นคุณค่าของวิธีการนี้จึงได้นำมาดัดแปลงให้เหมาะกับการสัมผัสด้วยปลายนิ้ว โดยให้มีจุดหกจุดเรียงกันเป็นสองแถว ทางตั้งแถวด้านซ้ายเรียงจากบนลงล่างเรียกจุด 1, 2, 3 และทางตั้งแถวด้านขวาเรียงจากบนลงล่างเรียกจุด 4, 5, 6 แล้วนำจุดต่าง ๆ นี้มาจัดกลุ่มกันเป็นรหัสได้ถึง 63 กลุ่ม และสามารถนำไปใช้แทนตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดนตรี และเครื่องหมายต่าง ๆ ได้
หลุยส์ เบรลล์ ได้ประกาศวิธีการใช้อักษรสำหรับคนตาบอดในปี ค.ศ. 1824 เมื่อเขามีอายุได้ 15 ปี ต่อมานักเรียนตาบอดเกิดความกระตือรือร้นในโอกาสใหม่นี้มาก และคำว่า “เบรลล์” จึงถือว่าเป็นอักษรสำหรับคนตาบอดซึ่งมาจากชื่อ “หลุยส์ เบรลล์” เพื่อเป็นการยกย่องให้กับผู้คิดประดิษฐ์ขึ้น หลุยส์ เบรลล์ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1852 เพียง 2 ปี ก่อนระบบการเขียนการอ่านหนังสือสำหรับคนตาบอดจะเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ
การกำเนิดอักษรเบรลล์ภาษาไทย
อักษรเบรลล์ภาษาไทยมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยสุภาพสตรีอเมริกันตาบอด ชื่อ มิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์ (Miss Genevive Caufield) โดยได้ร่วมกับคณะคนไทยคิดอักษรเบรลล์ภาษาไทยขึ้น ซึ่งประยุกต์มาจากอักษรเบรลล์ภาษาอังกฤษ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงเป็นการเปิดศักราชแห่งการเรียนรู้หนังสือของคนตาบอดไทย ต่อมาก็ได้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ในความดูแลของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย มิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์ จึงได้ช่วยงานของมูลนิธิฯ ตลอดมา และถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2515 ในประเทศไทย